ระเบียบกองทุนสงฆ์

ระเบียบคณะสงฆ์อำเภอเขมราฐ

ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์คณะสงฆ์อำเภอเขมราฐ

ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๖๔

……………………………….

อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒๔ แห่งระเบียบว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์คณะสงฆ์อำเภอเขมราฐ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ เพืิ่อให้มีความสอดคล้องกับภาวะเศรฐกิจและสังคมในปัจจุบัน จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกองทุนสงเคราะห์ฯ ดังต่อไปนี้.

หมวดที่ ๑

ชื่อ เครื่องหมาย และที่ตั้งสำนักงาน

ข้อ ๑ กองทุนนี้ชื่อว่า “กองทุนสงเคราะห์คณะสงฆ์อำเภอเขมราฐ”

ข้อ ๒ เครื่องหมายกองทุนสงเคราะห์ฯ คือ รูปธรรมจักร ในวงหยดน้ำ 

ข้อ ๓ กองทุนสงเคราะห์ฯ ตั้งอยู่ที่สำนักงานเจ้าคณะอำเภอเขมราฐ 

วัดบ้านนาขนัน(สว่างอารมณ์) ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี 

หมวดที่ ๒

วัตถุประสงค์

ข้อ ๔ วัตถุประสงค์กองทุนสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรอำเภอเขมราฐ

๔.๑ เพื่อให้การสงเคราะห์พระภิกษุสามเณร แม่ชีที่อาพาธ และหรือมรณภาพ

๔.๒ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ความสามัคคี ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

๔.๓ เพื่อร่วมเป็นสาธารณกุศล ร่วมกับองค์กรการกุศลอื่นๆ

๔.๔ เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ ของคณะสงฆ์อำเภอเขมราฐ

๔.๕ เพื่อสนับสนุนกิจการด้านการศึกษา การเผยแผ่ ของคณะสงฆ์

หมวดที่ ๓

การได้มาซึ่งทุนทรัพย์ และทรัพย์สิน 

ข้อ ๕. การเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ฯ ประจำปี ดังนี้

๕.๑ วัดถูกต้อง ปีละ ๒,๐๐๐ บาท (สองพันบาทถ้วน)

๕.๒ ที่พักสงฆ์ ปีละ ๑,๕๐๐ บาท (หนึ่งพันห้าร้อยบาทถ้วน)

ข้อ ๖. กองทุนสงเคราะห์ฯ ได้มาซึ่งทุนทรัพย์ ทรัพย์สิน โดยวิธีดังต่อไปนี้

๖.๑ เงินสดหรือทรัพย์สินมีผู้ยกให้ โดยทำพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่นๆ โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้กองทุนฯ ต้องรับผิดชอบในหนี้สิน หรือภาระติดพันอื่นใด

๖.๒ พระสังฆาธิการ หรือพระภิกษุ สามเณร หน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคสมทบ

๖.๓ ดอกผลอันเกิดขึ้นจากทรัพย์สินของกองทุนสงเคราะห์ฯ

๖.๔ จัดทอดผ้าป่าวันวิสาขบูชา สมทบเข้ากองทุนฯ ประจำปี

หมวดที่ ๔

ประธาน คณะกรรมการ สมาชิกกองทุนสงเคราะห์ฯ

ข้อ ๗. ประธาน กรรมการ และสมาชิก กองทุนสงเคราะห์ฯ ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

๗.๑ ประธาน และคณะกรรมการโดยตำแหน่ง

ก. เจ้าคณะอำเภอ เป็นประธาน

ข. รองเจ้าคณะอำเภอ เป็นรองประธาน

ค. เจ้าคณะตำบล,รองเจ้าคณะตำบล เป็นกรรมการ

๗.๒ สมาชิกกองทุน

ก. เป็นเจ้าอาวาส/หัวหน้าที่พักสงฆ์ 

ข. เป็นพระภิกษุ สามเณร แม่ชี ในเขตปกครอง

๗.๓ ให้มีเลขานุการ และเหรัญญิก เพื่อทำหน้าที่ตามระเบียบนี้

ข้อ ๘. คณะกรรมการ และสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ฯ พ้นสภาพ เมื่อ

๘.๑ พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ หรือมรณภาพ

๘.๒ เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย แก่ตนเอง และหมู่คณะ           

๘.๓ คณะกรรมการพิจารณาให้ออกโดยใช้มติไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

๘.๔ ย้ายสังกัด หรือไปออกนอกเขตปกครอง

หมวดที่ ๕

อำนาจ หน้าที่ คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ฯ

ข้อ ๙. คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ฯ มีหน้าที่ ดังนี้

๙.๑ กำหนดนโยบายของกองทุนสงเคราะห์ฯ และดำเนินการตามนโยบายนั้น

๙.๒ ควบคุมบริหารการเงิน และทรัพย์สินต่างๆ ของกองทุนสงเคราะห์ฯ

๙.๓ ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และมติที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ฯ

๙.๔ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ หรือบุคคลที่ทำคุณประโยชน์เป็นพิเศษ เป็นที่ปรึกษา และกรรมการกิตติมศักดิ์ได้

๙.๕ เชิญบุคคล หน่วยงาน ห้างร้าน เป็นผู้อุปถัมภ์กองทุนสงเคราะห์ฯ ได้

ข้อ ๑๐. คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ฯ มีอำนาจ ดังนี้

๑๐.๑ พิจารณา อนุมัติ เห็นชอบในการประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ฯ

๑๐.๒ เป็นผู้แทนในการติดต่อประสานงาน หรือทำนิติกรรมต่างๆ ของกองทุนสงเคราะห์ ฯ ตามที่ได้รับหมอบหมาย

ข้อ ๑๑. เมื่อประธานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานปฏิบัติหน้าที่แทน    

ข้อ ๑๒. เลขานุการกองทุนสงเคราะห์ฯ มีหน้าที่จัดทำเอกสาร เก็บเอกสาร ติดต่อประสานงาน บันทึกรายงานการประชุม สรุปรายงานกิจกรรมของกองทุนสงเคราะห์  ตามที่ประชุมมอบหมาย

ข้อ ๑๓. เหรัญญิก มีหน้าที่บริหารด้านการเงิน เบิกถอน ทำบัญชีรับ-จ่ายเงิน ทรัพย์สินของกองทุนสงเคราะห์ฯ และหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ฯ กำหนด

ข้อ ๑๔. กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ให้มีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ฯ กำหนด

หมวดที่ ๖

การประชุมคณะกรรมการ และสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ฯ

ข้อ ๑๕. คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ฯ ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีภายในเดือนมกราคม ของทุกปี เพื่อวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

๑๕.๑ สรุปการดำเนินงานของกองทุนสงเคราะห์ ฯ ในรอบปีที่ผ่านมา

๑๕.๒ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากสมาชิก

ข้อ ๑๖. การประชุมวิสามัญอาจมีขึ้นได้  เมื่อประธานเรียกประชุมตามที่เห็นสมควร

ข้อ ๑๗. การประชุมคณะกรรมการทุกครั้ง ต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุม ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง จึงถือเป็นองค์ประชุม

หมวดที่ ๗

การเงิน 

ข้อ ๑๘. เงินสดของกองทุนสงเคราะห์ฯ หรือเอกสารสิทธิ์

๑๘.๑ เหรัญญิก เก็บเงินสดไว้ได้ ไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน)

๑๘.๒ เงินสดที่เหลือให้นำฝากเข้าบัญชีธนาคาร โดยเปิดบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “กองทุนสงเคราะห์คณะสงฆ์อำเภอเขมราฐ” โดยมีประธาน เลขานุการ และเหรัญญิก เป็นผู้ลงนามเบิกถอน ทุกครั้ง

ข้อ ๑๙. การสั่งจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ฯ

๑๙.๑ ประธาน เลขานุการ หรือเหรัญญิก มีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ไม่เกินครั้งละ  ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)

๑๙.๒ การสั่งจ่ายเงินเกิน ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ให้เป็นอำนาจคณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบอนุมัติก่อน

ข้อ ๒๐. การเบิกจ่ายเงินของกองทุนสงเคราะห์ฯ

๒๐.๑ เมื่อมรณภาพ มีใบมรณบัตร ให้จ่ายดังนี้

ก. เจ้าอาวาส/หัวหน้าที่พักสงฆ์ รูปละ ๑๕,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ข. พระภิกษุ สามเณร แม่ชี รูปละไม่เกิน ๗,๐๐๐ บาท (เจ็ดพันบาทถ้วน) ค. กรณีพระภิกษุ สามเณร แม่ชี จรมาพักอยู่ไม่น้อยกว่า ๑ เดือน รูปละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท (ห้าพันบาทถ้วน)

ง. หรืออยู่ในดุลยพินิจคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ฯ พิจารณา

๒๐.๒ เมื่ออาพาธ มีหนังสือรับรองจากแพทย์ ให้จ่ายดังนี้

ก. เจ้าอาวาส/หัวหน้าที่พักสงฆ์ ครั้งละไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท (สองพันบาทถ้วน) ข. พระภิกษุ สามเณร แม่ชี ครั้งละไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน) ค. หรืออยู่ในดุลยพินิจคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ฯ พิจารณา ง. มีสิทธิ์เบิกกองทุนได้ ไม่เกิน ๓ ครั้ง/ต่อปี

๒๐.๓ เมื่ออาพาธต้องนอนพักรักษาอยู่โรงพยาบาลหรืออยู่วัดเป็นเวลานานเกิน ๑ เดือน ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ฯ พิจารณา

๒๐.๔ การจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ฯ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมอื่นๆ ตามระเบียบ ข้อ ๔ ให้เป็นไปตามคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ ในแต่ละครั้ง

ข้อ ๒๑. การรับเงินที่มีผู้บริจาคสมทบ หรือได้มาโดยวิธีอื่นๆ เหรัญญิกต้องทำใบเสร็จรับเงินให้ไว้เป็นหลักฐาน ใบเสร็จรับเงินนั้นต้องให้ประธาน หรือผู้แทน และเหรัญญิกลงนามทุกครั้ง

ข้อ ๒๒. กองทุนสงเคราะห์ฯ ต้องเก็บรักษาบัญชีรายรับ-รายจ่าย บัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ตลอดจนบัญชีอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อแสดงหลักฐานให้ถูกต้อง

ข้อ ๒๓. ให้ทำบัญชีงบดุลประจำปีซึ่งสิ้นสุดตามปฏิทิน เพื่อแสดงสถานะกองทุนสงเคราะห์ฯ เสนอกรรมการรับทราบ

หมวดที่ ๘

การแก้ไข  เพิ่มเติมระเบียบ

ข้อ ๒๔. การแก้ไข เพิ่มเติม ระเบียบนี้จะทำได้โดยที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ฯ มีมติเห็นชอบให้แก้ไข เพิ่มเติมระเบียบได้

หมวดที่ ๙

บทเฉพาะกาล

ข้อ ๒๕. ถ้ากองทุนสงเคราะห์ฯ ล้มเลิกไปโดยมติของกรรมการ หรือโดยเหตุใดๆก็ตาม ให้ทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนสงเคราะห์ฯ ที่เหลืออยู่ ตกเป็นทรัพย์สินของคณะสงฆ์อำเภอเขมราฐ

ข้อ ๒๖. การตีความในระเบียบของกองทุนสงเคราะห์ฯ หากเป็นที่สงสัย ให้คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ฯ โดยเสียงข้างมาก ของจำนวนกรรมการเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ ๒๗. ให้บทบัญญัติแห่งการประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยมูลนิธิ มาบังคับใช้โดยอนุโลม ในเมื่อระเบียบปฏิบัติของกองทุนสงเคราะห์ฯ มิได้กำหนดไว้

ข้อ ๒๘. ให้ใช้ระเบียบนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

                ประกาศ ณ วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔

                                                  (ลงนาม)     พระครูศรีสุตาลังการ                                           

(พระครูศรีสุตาลังการ)

เจ้าคณะอำเภอเขมราฐ

ประธานกองทุนสงเคราะห์คณะสงฆ์อำเภอเขมราฐ

   

สำนักงานคณะสงฆ์อำเภอเขมราฐ

บ้านนาขนัน ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ๓๔๑๗๐

โทร.๐๔๕-๙๕๓-๔๐๑ ,๐๔๕-๙๕๓-๔๐๒ © warut katbua e-mail aeabcaifong@hotmail.co.th